หากพูดถึง มกษ.9023 และ มกษ.9024 บางคนอาจจะรู้จัก แต่ก็มีบางคนอาจจะยังไม่รู้จัก มกษ. คือ มาตรฐานสินค้าเกษตร กำหนดหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สถานประกอบการมีมาตรฐาน และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร หากเปรียบเทียบ มกษ. กับมาตรฐานสากลจะเทียบเท่ากับ GHPs และ HACCP นั่นเอง ซึ่งทั้งสองระบบนั้นจะพูดถึงวิธีการควบคุมทำให้อาหารปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค และเมื่อปลายปี 2564 ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศ ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรมา 2 เรื่อง ดังนี้
1. หลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหาร : การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (มกษ. 9023) เทียบเท่ากับระบบ GHPs (Good Hygiene Practice)
2. ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมและแนวทางการนำไปใช้ (มกษ. 9024) เทียบเท่ากับระบบ HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point)
มกษ. 9023 หรือ ระบบ GHPs
อธิบายถึงพื้นฐานของระบบสุขลักษณะอาหาร ผู้ประกอบการอาหารควรมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตาม โดยเริ่มควบคุมกระบวนการตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนสิ้นสุดถึงการส่งผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้บริโภค บางสถานประกอบการอาจใช้เพียงหลัก 5 ประการขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย (WHO 5 keys to Safer Food) ก็สามารถทำให้อาหารปลอดภัยได้ ดังนี้ รักษาความสะอาด, แยกอาหารดิบและปรุงสุก, ปรุงสุกอย่างทั่วถึง, เก็บอาหารไว้ที่อุณหภูมิที่เหมาะสม และใช้น้ำและวัตถุดิบที่ปลอดภัย แต่ในบางสถานการณ์การนำ GHPs ไปปฏิบัติอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารได้ เนื่องจากความซับซ้อนของขั้นตอนการผลิตอาหาร อันตรายจำเพาะที่เกี่ยวกับอาหารหรือกระบวนการผลิต อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเมื่อวิเคราะห์อันตรายแล้วพบว่ามีอันตรายที่มีนัยสำคัญที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วย GHPs ควรระบุอันตรายเหล่านั้นไว้ในแผนการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point; HACCP)
มกษ. 9024 หรือ ระบบ HACCP
ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับประเมินอันตรายและกำหนดระบบการควบคุมที่มุ่งเน้นมาตรการควบคุมอันตรายตลอดโซ่อาหารมากกว่าอาศัยการทดสอบผลิตภัณฑ์สุดท้ายเป็นหลัก การนำ HACCP ไปใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ที่สำคัญอื่นๆ เช่น การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีพื้นฐานจากการวิเคราะห์ขีดความสามารถอย่างรอบคอบ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นโดยเน้นบริเวณวิกฤต และมีการเรียกคืนน้อยลงโดยการพบปัญหาก่อนปล่อยสินค้าสู่ตลาด นอกจากนี้การนำระบบ HACCP ไปใช้ยังสนับสนุนการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศโดยเพิ่มความเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านอาหาร
สถานประกอบการอาหารควรนำระบบ GHPs ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับอาหารสูงสุด ทั้งนี้อาหารบางประเภทอาจจะต้องนำระบบ HACCP ไปใช้ควบคู่ด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งผู้ประกอบการในประเทศไทยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก มกษ.9023 และ มกษ.9024 ฉบับแก้ไขปี พ.ศ. 2564
Comentarios